บทที่ 9

สยามก่อนการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ถนอม บรรณประเสริฐ

บทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายให้มีความเข้าใจเรื่องกฎหมายตราสามดวง และระบบปกครองของไทยในอดีตโดยสังเขป เป็นความรู้พื้นฐานทำให้ทราบว่าวิธีปกครองประเทศในอดีตภายใต้อำนาจกฎหมายตราสามดวงก่อนการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ช่วยให้เกิดความเข้าใจวิธีการปฏิรูปประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สลับซับซ้อน การทยอยยกเลิกอำนาจกฎหมายตราสามดวงทีละส่วนเป็นระยะ และช่วงเวลาต่าง ๆ ของการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น

ส่วนเรื่องกรมทหารหน้านั้น เป็นเรื่องที่หาอ่านได้ยาก และเกี่ยวข้องการกำเนิดกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นจุดกำเนิดของการปฏิรูปประเทศไทย ทำให้ทราบว่าเหตุใดกรมทหารหน้าจึงมีบทบาทสำคัญต่อกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

บทนี้แบ่งเป็น 3 เรื่อง ได้แก่ กฎหมายเก่า ระบบปกครองในอดีต และกรมทหารหน้า ดังนี้

กฎหมายเก่า

กฎหมายเก่า ในที่นี้หมายถึง ชุดกฎหมายชุดแรกที่เกิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.. 1893 เรียกว่า กฎหมายพระธรรมศาสตร์ เป็นชุดกฎหมายที่มีมาก่อนกฎหมายตราสามดวง พระเจ้าอู่ทอง ทรงประยุกต์จากกฎหมายของเขมรและมอญที่เรียกว่า คัมภีร์มโนสาร หรือธรรมสัตถัมซึ่งมาจากอินเดีย ตอนตั้งกฎหมายพระธรรมศาสตร์ขึ้นมาใช้เริ่มแรก ขุนนางอยุธยาก็ไม่มีความรู้ ต้องให้พราหมณ์ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา เนื่องจากพราหมณ์เรียนคัมภีร์ของอินเดียมาก และพราหมณ์มีหน้าที่ประกอบพระราชพิธีให้กับขุนวัง เมื่อตั้งให้พราหมณ์เป็นผู้พิพากษา หน้าที่พิพากษาอรรถคดีจึงตกเป็นของกระทรวงวัง

 

401 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

อีก 105 ปีต่อมา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งกฎหมายที่ใช้ตราสามดวงประทับเพิ่มในกฎหมายชุดนี้ ได้แก่ ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว โดยประทับตราทั้ง 3 บนกระดาษ ตราทั้ง 3 ดังกล่าว คือ สัญลักษณ์ของอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งแบ่งอำนาจบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน

หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.. 2310 ต้นฉบับกฎหมายหลวงถูกทำลายและสูญหายไปเกือบหมด ในปี พ.. 2347 รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้ชำระรื้อฟื้นชำระกฎหมายเก่าให้สมบูรณ์ โดยรวบรวมจากเอกสารที่มีอยู่ทั้งหมดตามหัวเมืองต่าง ๆ โปรดให้อาลักษณ์จัดทำขึ้น 3 ชุด แต่ละชุดประทับตรา 3 ดวงเช่นเดิม คือ ตราพระราชสีห์ (ตราสมุหนายก กำกับราชการฝ่ายพลเรือน) 1 ตราพระคชสีห์ (ตราสมุหพระกลาโหม กำกับราชการฝ่ายทหาร) 1 และตราบัวแก้ว (ตราโกษาธิบดี กำกับราชการพระคลังมหาสมบัติและการต่างประเทศ) ไว้ทุกเล่ม เก็บไว้ ณ ห้องเครื่อง 1 ชุด หอหลวง 1 ชุด และศาลหลวง 1 ชุด นิยมเรียกกฎหมายนี้ว่าฉบับตราสามดวง

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงทดลองจัดตั้งระบบราชการแบบตะวันตกเริ่มต้นเมื่อ พ.. 2413 จึงทรงประกาศกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อให้อำนาจรองรับในการดำเนินงานของหน่วยงานราชการใหม่ ๆ ที่ปฏิบัติการตามแบบตะวันตก ได้แก่ พระราชบัญญัติต่าง ๆ ประกาศพระบรมราชโองการต่าง ๆ เป็นต้น จึงตรัสเรียกกฎหมายใหม่ว่ากฎหมายใหม่และตรัสเรียกกฎหมายฉบับตราสามดวงว่ากฎหมายเก่าจนกระทั่งยกเลิกอำนาจกฎหมายเก่าปกครองประเทศทั้งหมดในปี พ.. 2440 เหลือเฉพาะกฎหมายใหม่เพียงชุดเดียวจึงเรียกว่ากฎหมาย

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ความรู้กฎหมายเจริญก้าวหน้าขึ้น มีการพิมพ์หนังสือกฎหมายใหม่ ๆ เผยแพร่มากขึ้น นิยมพิมพ์หนังสืองานศพที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่น เมื่อมหาอำมาตย์ตรีพระยาลพะนรินทร์ (วงศ์ จารุจินดา) อธิบดีศาลพระราชอาญาถึงแก่กรรม คุณหญิงลพะนรินทร์จึงได้วานพระยาบำเรอภักดิ์มาที่ราชบัณฑิตสภาปรึกษาขอหนังสือกฎหมายไปพิมพ์แจก จึงได้พิมพ์หนังสือชื่อว่ากฎหมายรัชกาลที่ 1 ฉบับตราสามดวง ลักษณะอาชญาหลวงแลลักษณะอาชญาราษฎร์ (พิมพ์ตามต้นฉบับ)” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.. 2474 ดังนั้นชื่อกฎหมายตราสามดวง หรือกฎหมายพระธรรมศาสตร์ จึงเป็นชื่อที่นักวิชาการนิยมเรียกกันในภายหลัง แต่สมัยที่กฎหมายยังมีใช้บังคับอยู่ฉบับเดียวจะเรียกว่ากฎหมาย

กฎหมายตราสามดวง

กฎหมายตราสามดวง เป็นกฎหมายชุดรวมประมาณ 29 ฉบับ แบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ คือ

ก. หมวดกฎหมายพระธรรมศาสตร์ คือ กฎหมายศาลและคดีความ เป็นกฎหมายบัญญัติจากคัมภีร์กฎหมายของมอญ เรียกว่าธรรมสัตถัมซึ่งมอญรับอิทธิพลมาจากคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของฮินดูอีกทอดหนึ่ง กฎหมายพระธรรมศาสตร์แบ่งเป็น 2 หมวดย่อย คือ หมวดเค้ามูล ว่าด้วยที่มาของกฎหมายพระธรรมศาสตร์ว่าคัดลอกมาจากกำแพงจักรวาล และ หมวดตัวบท ว่าด้วยมูลคดี 39 ประการ (มูลคดีผู้พิพากษาและตุลาการ 10 ประการ

 

402 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

 

มูลคดีวิวาท 29 ประการ) หมวดกฎหมายพระธรรมศาสตร์ มีทั้งหมด 19 ฉบับ กฎหมายแต่ละฉบับเรียกว่า พระไอยการ ซึ่งหมายถึง บทกฎหมาย เช่น พระไอยการลักษณรับฟ้อง พระไอยการลักษณภญาน (พยาน) พระไอยการพรหมศักดิ พระไอยการบานผแนก พระไอยการลักษณผัวเมีย พระไอยการทาษ พระไอยการลักภาลูกเมียผู้คนท่าน พระไอยการลักษณมรดก พระไอยการลักษณกู้หนี้ พระไอยการเบดเสรจ พระไอยการลักษรวิวาทตีด่ากัน พระไอยการอาชญาหลวง พระไอยการอาชญาหลวง พระไอยการลักษณอุธร พระไอยการกระบดศึก เป็นต้น

. หมวดกฎหมายประกอบพระธรรมศาสตร์ คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงบัญญัติขึ้นใหม่ มี 2 ชนิด ได้แก่

(1) กฎหมายพระราชศาสตร์คือ กฎหมายศาลและคดีความ ที่พระมหากษัตริย์ทรงนำมูลคดีต่าง ๆ (คดีฟ้องร้องกัน) ที่เกิดขึ้นมาบัญญัติเป็นกฎหมายใหม่เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิม

(2) กฎหมายพระราชนิติศาสตร์คือ กฎหมายปกครองประเทศ เป็นกฎหมายจัดตั้งระบบราชการตามพระราชประสงค์ปรับปรุงการปกครองประเทศให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาบ้านเมืองในยุคนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น

กฎหมายปกครองประเทศ มี 5 ฉบับ ได้แก่

- กฎมณเฑียรบาล (ตราขึ้น พ.. 1903 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง)

- พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน (ตราขึ้น พ.. 1998 รัชสมัยสมเด็จ-พระบรมไตรโลกนาถ)

- พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง (ตราขึ้น พ.. 1998 รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)

- พระธรรมนูน (ใช้ตรา) (ตราขึ้นเมื่อ พ.. 2021 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้า-ปราสาททอง)

- พีสูท (พิสูจน์) ดำน้ำลุยเพลิง (ตราขึ้น พ.. 1898 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้า-อู่ทอง)

กฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลัง มี 4 ประเภท ได้แก่

- พระราชกำหนดเก่า (ตราขึ้นเมื่อ พ.. 2070 - 2306 รัชสมัยสมเด็จ-พระเจ้าเอกทัศ)

- กฎ 36 ข้อ (ตราขึ้นเมื่อ พ.. 2193 - 2299 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้า-ปราสาททอง)

- พระราชกำหนดใหม่ (ตราขึ้นเมื่อ พ.. 2325 - 2348 ในรัชกาลที่ 1)

- พระราชบัญญัติ (ตราขึ้นเมื่อ พ.. 2326 - 2348 ในรัชกาลที่ 1)

. หมวดกฎหมายไม่ประกอบพระธรรมศาสตร์ มี 1 ฉบับ ได้แก่

- กฎพระสงฆ์ (ตราขึ้นเมื่อ พ.. 2325 - 2344 ในรัชกาลที่ 1)

กฎหมายตราสามดวงชุดที่ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ กฎหมายพระราชนิติศาสตร์ ได้แก่ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน (โครงสร้างตำแหน่งข้าราชการพลเรือน) พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง (โครงสร้างตำแหน่งข้าราชการทหาร) และพระไอยการบานผแนก (กฎหมายทาสและไพร่)

 

403 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

ระบบปกครองในอดีต

การปกครองประเทศในอดีต แบ่งออกเป็น 3 ระยะ(1) ดังนี้

สมัยอยุธยา ตอนต้น (.. 1893 - 1991)

การปกครองประเทศในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ถึง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 แบ่งโครงสร้างระบบราชการแบบจตุสดมภ์เป็น 4 กรม คือ กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง มีอัครเสนาบดี 1 คน และเสนาบดี 4 ฝ่าย คือ ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง ขุนนาง บัญชาการกรมจตุสดมภ์ และแบ่งพื้นที่ปกครองเป็น 2 ส่วน คือ

- การปกครองพื้นที่เมืองหลวง คือ การปกครองพื้นที่เขตเมืองหลวงและเมืองบริวารโดยรอบ ใช้การปกครองแบบระบบจตุสดมภ์ แบ่งเป็น 4 กรม ได้แก่ กรมเวียง (ดูแลในเขตเมืองหลวง) กรมวัง (ดูแลพระราชสำนักและพิจารณาคดี) กรมคลัง (ดูแลพระราชทรัพย์) กรมนา (จัดเก็บภาษีและจัดหาเสบียงสำหรับกองทัพ) แต่ละกรมมีเสนาบดีบัญชาการ ทุกกรมอยู่ใต้บังคับบัญชาของอัครมหาเสนาบดี ผู้มีอำนาจสูงสุดรองจากพระมหากษัตริย์ กรมจตุสดมภ์มีอำนาจปกครองโดยตรงเฉพาะในเมืองหลวงและเมืองลูกหลวง (การปกครองหัวเมืองพระยามหานครใช้ระบบกินเมือง คือ เจ้าเมืองเป็นผู้จัดราชการในเมืองที่ตนเองปกครอง)

- การปกครองพื้นที่หัวเมืองและประเทศราช คือ การปกครองหัวเมือง (ต่างจังหวัด) และประเทศราช แบ่งเป็น 4 ชั้น คือ

- เมืองลูกหลวง หรือ เมืองหน้าด่าน คือ เมืองที่ตั้งอยู่รอบเมืองหลวง 4 ทิศ เช่น ลพบุรี นครนายก พระประแดง สุพรรณบุรี จะให้โอรสหรือพระราชวงศ์ชั้นสูงไปปกครอง

- หัวเมืองชั้นใน อยู่ถัดจากเมืองลูกหลวงออกไป ได้แก่ พรหมบุรี สิงห์บุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตะนาวศรี ไชยา นครศรีธรรมราช ให้ขุนนางที่กษัตริย์แต่งตั้งไปปกครอง โครงสร้างระบบราชการของหัวเมืองชั้นในจะมีขนาดเล็ก เพราะขึ้นกับเมืองหลวงโดยตรง จึงใช้ระบบราชการเมืองหลวงที่ขยายอำนาจครอบคลุมไว้เป็นหลัก

- หัวเมืองชั้นนอก หรือหัวเมืองพระยามหานคร คือ หัวเมืองขนาดใหญ่ห่างจากราชธานี ผู้ปกครองสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองเดิม หรือตัวแทนที่ราชธานีส่งมาปกครอง เป็นการปกครองที่เรียกว่ากินเมืองคือ มีเจ้าเมืองหรือพระยามหานครเป็นผู้ปกครองคล้ายกับเป็นประเทศเล็ก ๆ ดูแลจัดการเก็บภาษีเอาไว้ใช้เอง ว่าจ้างขุนนาง สร้างระบบขุนนางเอง ทั้งเจ้ากรม ปลัดกรม หลวง ขุนหมื่น นายเวร ซึ่งส่วนใหญ่จะย่อระบบไปจากระบบวังหลวง ซึ่งการมีโครงสร้างขุนนางของตนเองแบบวังหลวงนี้ เสนาบดีที่มีตำแหน่งใหญ่กว่าเจ้าเมืองก็ยังทำไม่ได้ ในขณะที่เจ้าเมืองมีฐานะเป็นเจ้าครองนคร จะสั่งราชการก็ใช้ราชาศัพท์ เหมือนพระบรมวงศานุวงศ์ การปกครองแบบกินเมืองนี้มีพันธะสำคัญ 2 อย่างคือ

 

404 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

 

ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนด และต้องส่งทหารมาช่วยในยามสงคราม ซึ่งระบบนี้มีใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยธนบุรี

- เมืองประเทศราช เป็นเมืองที่ยังได้ปกครองตนเอง เพราะอยู่ไกลที่สุด มีความเป็นอิสระเหมือนเดิม แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการตามกำหนดส่งกองทัพมาช่วยเวลาสงคราม เช่น สุโขทัย เขมร เป็นต้น

สมัยอยุธยา ตอนกลาง (.. 1991 - 2231)

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (.. 1991 - .. 2031) ทรงปฏิรูปการปกครองประเทศใหม่ ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมการปกครองแบบจตุสดมภ์ (กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา) และให้ตรากฎหมายชื่อพระไอยการนาทหารหัวเมือง และพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน แบ่งส่วนราชการใหม่ แยกอำนาจของอัครมหาเสนาบดีออกเป็น 2 ส่วนคือ อำนาจคุมขุนนางทหาร และอำนาจคุมขุนนางพลเรือน ไว้ในกรมใหญ่ที่ตั้งขึ้นใหม่ 2 กรม คือ กรมกลาโหม และกรมมหาดไทย รวมกรมจตุสดมภ์อีก 4 กรม รวมทั้งหมดเป็น 6 กรมใหญ่ปกครองประเทศ

กรมกลาโหม มีสมุหพระกลาโหมว่าราชการกรมกลาโหมกำกับขุนนางและกิจการฝ่ายทหารทั้งหมดทั้งในราชธานี หัวเมืองต่าง ๆ และประเทศราช

กรมมหาดไทย มีสมุหนายกว่าราชการกรมมหาดไทยกำกับขุนนางและกิจการฝ่ายพลเรือนทุกหัวเมือง รวมทั้งการบังคับบัญชา กรมจตุสดมภ์ (กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา) และมีการตั้งกรมย่อยสำหรับการรักษาบำบัดโรคของหลวงคือ กรมแพทยาโรงพระโอสถ เป็นกรมฝ่ายพลเรือน ตั้งขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตามกฎหมายพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน

สมัยพระเพทราชาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนต้น (.. 2231 - 2440(2))

เนื่องจากสมเด็จพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์ บุตรชาย ช่วงชิงราชสมบัติและปลงพระชนม์เจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชาในสมเด็จพระนารายณ์ ผู้สืบทอดราชสมบัติ เจ้าเมืองต่าง ๆ จึงเกิดกระด้างกระเดื่องไปทั่ว ไม่ยอมเข้ามาถือน้ำถวายสัตย์ต่อพระเพทราชา เกิดกบฏต่อต้าน เพราะยังมีประชาชนที่ยังซื่อสัตย์ต่อพระราชวงศ์เดิม จนพระเพทราชาต้องปราบปรามอยู่หลายปีกว่าจะสงบ แต่เพื่อป้องกันศัตรูที่อาจจะมีอยู่ จึงแก้ไขประเพณีปกครองบ้านเมือง เนื่องจากไม่ไว้ใจขุนนาง ซึ่งแต่เดิมมา การว่าราชการในกรมใด กรมนั้นก็ออกว่าราชการไปตามหัวเมืองด้วย ทั้งขุนนางกลาโหมและขุนนางมหาดไทยจึงมีอำนาจคุมทั่วประเทศ พระเพทราชาจึงเปลี่ยนให้เสนาบดีมหาดไทยคุมเฉพาะหัวเมืองฝ่ายเหนือ เสนาบดีกลาโหมคุมเฉพาะหัวเมืองฝ่ายใต้ รวมทั้งทหารและพลเรือน จะได้ถ่วงดุลอำนาจกัน ทำให้เสนาบดีกลาโหมและเสนาบดีมหาดไทยลดอำนาจลงมาก ในขณะเดียวกันเสนาบดีทั้ง 2 กรมใหญ่ก็ไม่ถนัดคุ้นเคยเพราะต้องคุมฝ่ายที่ตนเองไม่มีความชำนาญ ทำให้อาณาจักรอยุธยาอ่อนแอลงมาก ในขณะเดียวกัน พระเพทราชาได้ตั้ง ทำเนียบขุนนางวังหน้า ในกำกับของหลวงสรศักดิ์ บุตรชาย (วังหน้า) ขึ้นเพิ่มเติม เพื่อเป็นกองกำลังรักษาพระองค์ป้องกันเองตนเอง ทำเนียบขุนนางวังหน้าจึงเกิดขึ้นในสมัยพระเพทราชาและสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

 

405 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

ระบบราชการฝ่ายกลาโหมและมหาดไทยที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตราไว้นั้น มีความมุ่งหมายเพื่อต่อสู้กับสงครามภายนอก จึงถูกพระเพทราชาแก้ไขยกเลิกเพื่อสงครามการเมืองภายในประเทศ กลายเป็นการต่อสู้ทางการเมืองภายในประเทศกันเอง นับแต่นี้ต่อไปอยุธยาก็เริ่มเสื่อมลง โดยเฉพาะการทหารเสื่อมโทรมลงอย่างมาก สมเด็จพระเพทราชาปรับปรุงการปกครองใหม่ โดยแบ่งประเทศออกเป็น 4 ภูมิภาค แบ่งกันปกครอง ดังนี้(3)

- พระมหากษัตริย์ - ทรงบังคับบัญชาปกครองในเมืองหลวง และทรงกำกับการปกครองทั้งประเทศ

- สมุหนายก กรมมหาดไทย - บังคับบัญชากิจการทางด้านทหารและพลเรือน ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ

- สมุหพระกลาโหม กรมพระกลาโหม - บังคับบัญชากิจการทางด้านทหารและพลเรือน ในหัวเมืองหัวเมืองฝ่ายใต้

- เจ้าพระยาพระคลัง กรมพระคลัง - บังคับบัญชากิจการทางด้านทหารและพลเรือน ในหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ซึ่งเป็นเมืองท่าการค้า

การปกครองหัวเมืองในสมัยโบราณ

ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา การปกครองหัวเมืองชั้นใหญ่นอก เรียกว่าเมืองพระยามหานคร เช่น เมืองแพร่ เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งใช้ระบบพิเศษที่เรียกว่า ระบบกินเมือง คือ ดูแลเก็บเงินภาษีใช้เอง จ้างขุนนางเอง ตั้งระบบปกครองอิสระ แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการและส่งทหารช่วยรบเป็นระยะ ๆ ซึ่งอำนาจของพระยานครในฐานะเจ้าเมืองเกือบเท่าพระมหากษัตริย์ ทำให้การควบคุมทำได้ยาก ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ จึงขาดเอกภาพ กรุงศรีอยุธยาตอนปลายจึงอ่อนแอลงตามลำดับ และกรุงแตกครั้งที่ 2 ซึ่งสมัยกรุงธนบุรีมีการรื้อฟื้นระบบเมืองพระยามหานคร ระบบกินเมือง ขึ้นอีกครั้ง

ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงพระราชดำริว่า ระบบเมืองพระยามหานครมีข้อบกพร่องมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกระบบเจ้าเมืองที่มีตระกูลเดียวปกครองเหมือนวัง และทรงใช้วิธีการให้ส่วนกลางแต่งตั้งเจ้าเมือง ไม่ให้มีการสืบทอดการปกครองเมืองจากทายาทเจ้าเมืองเดิมอีก โดยวิธีการแต่งตั้งเจ้าเมืองคือ เมืองเอก พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ได้แก่ เมืองพิษณุโลก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ถลาง และสงขลา ส่วนเมืองโท ตรี และจัตวา เสนาบดีผู้รับผิดชอบเป็นผู้แต่งตั้ง

ทรงตั้งกรมปกครองหัวเมืองเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ควบคุมหัวเมืองต่าง ๆ และแบ่งหัวเมืองเป็น 2 ประเภท คือ

1) หัวเมืองชั้นใน (เดิมเรียกว่าเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่าน) ได้แก่ หัวเมืองที่กระจายรายล้อมอยู่รอบเมืองหลวง ถือเป็นเมืองบริวารของเมืองหลวง ไม่มีศักดิ์เป็นเมืองอย่างแท้จริง เพราะไม่มีเจ้าเมือง มีเพียงผู้รั้งซึ่งไม่มีอำนาจอย่างเจ้าเมือง จะต้องฟังคำสั่งจากเมืองหลวง

2) หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองทั้งปวง (นอกจากเมืองหลวง เมืองชั้นใน และเมืองประเทศราช) เมืองเหล่านี้จัดแบ่งระดับเป็นเมืองชั้นเอก โท ตรี ตามขนาด จำนวนพลเมืองและ

 

406 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

ความสำคัญ แต่ละเมืองยังอาจมีเมืองเล็ก ๆ (เมืองจัตวา) อยู่ใต้สังกัดได้อีกด้วย เจ้าเมืองของเมืองเหล่านี้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในเมืองของตน แต่ต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการและนโยบายของรัฐบาลที่เมืองหลวง ตามเขตการรับผิดชอบ คือ

หัวเมืองเหนือและอีสาน - สมุหนายกเป็นผู้สำเร็จราชการ

หัวเมืองใต้ (ตั้งแต่เมืองเพชรบุรีลงไป) - สมุหพระกลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการ

หัวเมืองชายทะเลตะวันออก (นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สาครบุรี ชลบุรี บางละมุง ระยอง จันทบุรี และตราด) - เสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นผู้สำเร็จราชการ

การปกครองเมืองประเทศราช

เมืองประเทศราชของไทยมี 4 เมือง ได้แก่ 1. ล้านนาไทย (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงแสน) 2. ลาว (หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์) 3. เขมร และ 4. หัวเมืองมลายู (ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู) เมืองประเทศราชเหล่านี้มีเจ้าเมืองเดิมเป็นผู้ปกครอง แต่ผูกพันต่อราชธานีโดยการส่งเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ตามกำหนดเวลา และช่วยราชการทหารตามแต่กรุงเทพฯ หรือราชธานีจะมีใบบอกแจ้งไป ภารกิจของราชธานี (กรุงเทพฯ) คือ ปกป้องดูแลมิให้ข้าศึกศัตรูโจมตีเมืองประเทศราช(4)

กรมทหารหน้า

กรมทหารหน้า (ปัจจุบันคือกองทัพบก) คือ กรมทหารบกแบบโบราณที่ฝึกทหารแบบตะวันตกและใช้ระบบราชการแบบตะวันตก เดิมในสมัยอยุธยาคือกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งกรมทหารหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นกรมทหารบกที่มีขนาดใหญ่สุด มีกำลังทหารนับพันคน

การฝึกหัดทหารแบบตะวันตก และการจัดราชการแบบตะวันตก แฝงอยู่ในระบบราชการโบราณมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมีกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งกรมทหารเกณฑ์ที่จัดตั้งโดยทหารโปรตุเกส ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ในกรมนี้มีการตั้งตำแหน่งตำแหน่งยศทหารทับศัพท์ภาษาอังกฤษ มีการแบ่งหน้าที่ในกรมกองแบบตะวันตก การปฏิบัติราชการทหารแบบตะวันตกในกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งจึงทำให้ทหารรุ่นเก่าคุ้นเคยกับระบบราชการแบบตะวันตกมากกว่ากรมฝ่ายพลเรือน

การฝึกหัดทหารแบบตะวันตกมีความเป็นมาในประวัติศาสตร์ไทย ตามลำดับเหตุการณ์ดังนี้

การจัดตั้งกองทหารต่างประเทศในสมัยอยุธยา

ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีพวกชาวต่างชาติมาพึ่งพระบารมีย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เช่น พวกมอญ พวกจาม พวกมลายู เป็นต้น และมีพวกที่เข้ามาค้าขาย เช่น แขกเปอร์เซีย ฝรั่งฮอลันดา ญี่ปุ่น มีการจัดตั้งกองทหารที่เป็นชาวต่างชาติขึ้น ในสมัยนี้

 

407 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

มีสงครามมาก ทหารไทยจึงมีจำนวนลดลงมาก เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สวรรคตในปี พ.. 2148 สมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในกรุงศรีอยุธยาจึงสมัครใจมาเป็นทหาร เรียกว่าทหารอาสาจึงมีการตั้งชื่อกรมทหารอาสาจำแนกตามเชื้อชาติ เช่น กรมทหารอาสาจาม กรมทหารอาสาญี่ปุ่น กรมทหารแม่นปืน (ทหารโปรตุเกส) ประเทศฮอลันดาได้ส่งปืนใหญ่มาถวายจึงโปรดให้ทหารฮอลันดาเข้าประจำปืนราชบรรณาการ เป็นต้น วิธีการทางทหารของหลายประเทศจึงมีแทรกเข้ามาในกรมทหารอาสาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

การฝึกหัดทหารอย่างยุโรป สมัยอยุธยา(5)

การฝึกหัดทหารตามแบบยุโรป มีตั้งแต่ในสมัยอยุธยา โดยแทรกในโครงสร้างทหารที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวง มีการจัดตั้งกรมทหารชื่อกรมเกณฑ์อย่างฝรั่งเป็นกรมที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบยุทธวิธีทหารแบบยุโรปในสมัยนั้น มีพระพิพิธเดชะ เป็นเจ้ากรม ปรากฏในทำเนียบศักดินาทหารเดิมเมื่อแรกเริ่มจัดตั้งกรมนี้มีครูฝึกเป็นชาวโปรตุเกส ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทรงให้นายทหารฝรั่งเศสเข้ามาเป็นครูฝึกทหารจำนวนมาก เช่น ทหารชื่อ เชวาเลีย เดอ ฟอร์แบง เป็นครูฝึกหัดทหารแบบยุโรป เพราะมีขุนนางใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศสคือเจ้าพระยา-วิไชเยนทร์ แต่เมื่อสิ้นสุดสมัยสมเด็จพระนารายณ์ การใช้ทหารฝรั่งเป็นครูฝึกทหารไทยก็เสื่อมไป เหลือแต่ชื่อของกรมเกณฑ์อย่างฝรั่งยังคงอยู่เรื่อยมา ครั้นกรุงศรีอยุธยาแตก กรมนี้ก็ยุบไป เมื่อถึงสมัยธนบุรี กรมนี้ก็ตั้งขึ้นมาใหม่ เพราะปรากฏหลักฐานว่ามีฝรั่งรับราชการที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ และในการเกณฑ์ทัพก็กล่าวว่าให้เกณฑ์ทหารใส่เสื้อเกราะและหมวกถือปืนจึงเป็นกรมทหารแบบฝรั่งและมีสืบต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1

การฝึกหัดทหารอย่างยุโรป สมัยรัชกาลที่ 2(6)

เมื่อรัฐบาลอังกฤษในอินเดียแต่งตั้งให้ครอเฟิตเป็นทูตเข้ามาสยาม มีทหารแขกอินเดียที่อังกฤษจัดตั้งขึ้นเรียกว่าซีปอย” (Sepoy) ประจำเรือรบมาด้วย เป็นเหตุให้ไทยได้เห็นทหารที่ฝึกหัดแบบฝรั่งครั้งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อทูตอังกฤษกลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธ-เลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดให้จัดตั้งทหารที่ฝึกหัดอย่างฝรั่ง 1 พวก เรียกว่าทหารซีป่ายมีหน้าที่เป็นกรมรักษาพระองค์และรักษาพระราชฐาน การที่ทูตครอเฟิตเข้ามา เพื่อขอทำสัญญาและได้ส่งเครื่องบรรณาการทูลเกล้าฯ ถวาย มีเครื่องแต่งตัวทหารซีป่าย 12 ชุดด้วย ทหารซีป่ายที่ฝึกหัดขึ้นจึงมีเครื่องแบบแต่งตัวแบบฝรั่งยังสืบต่อถึงรัชกาลที่ 3

การฝึกหัดทหารอย่างยุโรป สมัยรัชกาลที่ 3(7)

รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อไทยรบกับญวน อังกฤษจะมาย่ำยีเหมือนอย่างจีน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสมเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ 2 พวก

พวกที่ 1 - ให้เกณฑ์ทหารอาสาญวนฝึกเป็นทหารซีป่ายปืนใหญ่แต่งตัวแบบทหารซีปอย (Sepoy) ของอังกฤษ เพื่อประจำการป้อมปากน้ำ มีเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นผู้บัญชาการ

 

408 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

พวกที่ 2 - ให้เกณฑ์อาสามอญหัดเป็นทหารปืนเล็ก มีพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้บัญชาการ(8) โดยมีครูฝึกคือ นายร้อยเอก (กัปตัน) น็อกส์ (Knox) นายทหารบกอังกฤษนอกราชการจากอินเดีย ผู้เดินทางเข้ามาทางพระเจดีย์สามองค์กาญจนบุรี มายังกรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ กรมกลาโหมจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล ทรงโปรดว่าเป็นนายทหารจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) รับไว้จัดการกรมทหารอย่างยุโรปให้รุ่งเรือง โดยให้เกณฑ์บุตรหมู่รามัญ (มอญ) เมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองปทุมธานี มาฝึกหัดเป็นทหารซีป่าย กัปตันน็อกส์ เป็นครูฝึกทหารราบ ตามระเบียบยุทธวิธีแบบทหารอังกฤษ มีพลฝึกหัดประจำการประมาณ 1,000 คนเศษ แบ่งเป็น 4 ผลัด เข้า 1 เดือน ออก 3 เดือน โรงทหารตั้งอยู่บ้านพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) มีสนามฝึกหัดอยู่ข้างหน้าวัดบุปผาราม กองทหารอย่างยุโรปนี้จึงมีหน้าที่แทนกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งที่เสื่อมไป

การฝึกหัดทหารอย่างยุโรป สมัยรัชกาลที่ 4

เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ เสด็จออกหน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในวันพระบรมราชาภิเษก มีนายร้อยทหารอังกฤษ 1 คน ชื่ออิมเป (Impey) รับอาสาเป็นครูฝึกทหารบกแบบอังกฤษของวังหลวง ทรงให้จ้างไว้ และเกณฑ์อาสาลาวและเขมรมาฝึกหัดเป็นทหารซีป่ายอีกกรมหนึ่ง ส่วนนายร้อยเอก น็อกส์ (Knox) ที่มาสมัครตามหลัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระปิ่นเกล้า จ้างนายร้อยเอก น็อกส์ ไว้เป็นครูแบบอังกฤษ สำหรับฝึกทหารวังหน้าโดยให้โอนทหารญวน (เข้ารีต) ที่ทรงบัญชาการแต่ก่อนไปเป็นทหารของวังหน้า

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารอย่างยุโรปขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม และให้ย้ายบ้านข้ามฟากมาอยู่ที่บ้านเจ้าพระยา บดินทรเดชา (สิงห์) ปัจจุบันอยู่แถวถนนเยาวราช กองทหารมอญซีป่ายจึงได้ย้ายมาตั้งที่นี่ และได้ปลูกโรงทหารใหญ่โต มีการเกณฑ์พลทหารเพิ่มเติมจากหมู่ลาวและหมู่เขมรอีก 2 พวก ในปี พ.. 2398 และให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงมหิศวรินทรามเรศร์ ทรงบังคับบัญชาและให้ย้ายกองทหารอย่างยุโรปทั้ง 3 พวกมาตั้งอยู่ ณ ท้องสนามชัย ต่อมาได้ปลูกโรงทหารเป็นตึกแถวเรียงกันหลายหลัง และให้้ขุนหมื่นสิบยก ในกรมต่าง ๆ มาเป็นทหารอีกพวกหนึ่ง เรียกว่า กองเกณฑ์หัด รวมเป็นทหารอย่างยุโรปทั้งหมด 4 กอง คือ 1. กองทหารอย่างยุโรป 2. กองทหารมหาดไทย 3. กองทหารกลาโหม และ 4. กองทหารเกณฑ์หัด รวมทั้ง 4 กองเป็น 1 กรม ชื่อกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งแต่นิยมเรียกว่ากรมทหารหน้าเป็นกรมทหารของวังหลวงที่เกณฑ์มาจากพวกมอญ ลาว เขมร ญวน ทำการฝึกหัดแบบทหารอังกฤษ แต่งตัวแบบทหารอังกฤษ (ทหารซีป่าย Sepoy) ในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงเรียกทหารซีป่ายว่า ทหารหน้า (หมายถึง กรมทหารบกราบที่ได้รับฝึกหัดทหารแบบยุโรป ต่อมาคือกองทัพบกในปัจจุบัน)

สาเหตุที่เรียกชื่อว่าทหารหน้าเพราะว่า เป็นทหารที่แห่นำขบวนเสด็จของพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่รักษาพระองค์ และมีหน้าที่ต้องไปทำราชการก่อนทหารประเภทอื่น

ทหารหน้านี้เคยถูกเปลี่ยนไปฝึกหัดทหารแบบฝรั่งเศสอยู่ช่วงหนึ่ง ในสมัยที่พระยา-

 

409 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

บุรุษรัตนราชพัลลภ (เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง) เป็นผู้บัญชาการกรมทหารหน้า ได้รับนายทหารฝรั่งเศสมาเป็นครูสอน 1 คน ชื่อลามาช (Lamache) ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นหลวงอุปเทศทวยหาญ มีการแก้กระบวนยุทธวิธีและคำบอกต่าง ๆ เป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ยังไม่นานก็มีเหตุต้องออกจากราชการ

ตอนปลายรัชกาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นผู้บัญชาการกรมทหารหน้า ถือว่าเป็นกรมทหารขนาดใหญ่ที่ฝึกยุทธวิธีแบบทหารอังกฤษ มี 4 กองทหารสำคัญรวมกัน จึงเป็นกรมทหารที่มีกำลังแข็งแกร่งที่สุด พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ให้นายทหารในกรมทหารหน้า เรียกว่านายดาบ ผู้มีความรู้ทหารอย่างอังกฤษเป็นครูฝึกทหารแทนครูฝึกฝรั่งจนสิ้นรัชกาลที่ 4

.. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เป็นเจ้าพระยาที่ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม และยังคงบังคับบัญชากรมทหารหน้าอยู่

.. 2414 ทรงปรับปรุงกรมทหารหน้า ให้มีนายทหารสัญญาบัตรแบบใหม่ ทรงโปรดให้กรมทหารรักษาพระองค์เดิมเปลี่ยนชื่อเป็นกรมทหารฝีพาย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมทหารบกราบที่ 1 และกรมทหารบกราบที่ 2 ส่วนกรมทหารล้อมวังเปลี่ยนชื่อเป็น กรมทหารบกราบที่ 11 (กรมทหารหน้า ยังเรียกกรมทหารหน้าเช่นเดิม จนถึง พ.. 2442 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นกรมทหารบกราบที่ 4)

.. 2417 ทรงเปลี่ยนแปลงเป็นการจัดการอย่างใหม่ (ปฏิรูประบบทหาร) โดยปรับปรุงโครงสร้าง ตั้งตำแหน่งยศเป็นภาษาอังกฤษ ที่เป็นระบบบังคับบัญชาแบบยุโรป

.. 2423 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพันเอก (คอลอแนล) จมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสงชูโต ภายหลังเป็นนายพลโท พระยาสุรศักดิ์มนตรี) เป็นผู้บังคับการกรมทหารหน้า

.. 2424 เริ่มสร้างโรงทหารหน้า ต่อมาเรียกว่า ศาลายุทธนาธิการ และปัจจุบันเรียกว่า ตึกกระทรวงกลาโหม

.. 2430 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รวมกรมทหารบก 7 กรม และกรมทหารเรือ 2 กรมไว้ด้วยกันตั้งเป็นกรมยุทธนาธิการโดยกรมทหารหน้าเป็นกรม 1 ใน 7 กรม โรงทหารหน้าจึงเปลี่ยนเป็นที่ทำการของกรมยุทธนาธิการ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นศาลายุทธนาธิการ(9)

สรุปรายชื่อครูฝึกทหารแบบยุโรปในสมัยรัชกาลที่ 3 - 4 ได้แก่

1) นายร้อยเอก น็อกส์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ฝึกทหารอาสามอญ จำนวน 1,000 คนเศษ มีโรงทหารตั้งอยู่บ้านพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการ

2) ฝึกตามตำราปืนใหญ่ภาษาอังกฤษ (เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ โปรดเกล้าฯ ให้แปลเป็นไทย) ฝึกทหารญวนเข้ารีต เป็นทหารปืนใหญ่ประจำป้อมปากน้ำ

3) นายร้อยเอก อิมเป (Impey) ในสมัยรัชกาลที่ 4 ฝึกหัดทหารอาสาลาวและเขมร

4) นายร้อยเอก น็อกส์ (Knox) ในสมัยรัชกาลที่ 4 ฝึกทหารญวนเข้ารีต ที่เคยเป็นทหารปืนใหญ่

5) ครูฝึกในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นลูกศิษย์ของนายร้อยเอก อิมเป (Impey) คือ

 

410 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

1.ขุนเจนกระบวนหัด (ครูเชิงเลน) 2.ขุนจัดกระบวนพล (ครูกรอบ) 3.ขุนรัดรณยุทธ (ครูเล็ก) และ 4.ขุนรุดรณชัย (ครูวงศ์)

ทหารมหาดเล็กไล่กา พ.. 2404

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ยังทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จ-พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ นั้น ได้ทอดพระเนตรกรมและกองทหารบกเกณฑ์ที่ฝึกหัดอย่างยุโรป ในสมัยรัชกาลที่ 4 เรียกว่า ทหารหน้า ซึ่งฝึกหัดยุทธวิธีถวาย ณ ท้องสนามชัยหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรค์อยู่เนือง ๆ อาจจะส่งผลให้พระองค์โปรดในกิจการทหารยิ่งขึ้น

ครั้น พ.. 2404 ในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมบุตรในราชตระกูลและบุตรข้าราชการที่ยังเยาว์วัยมาทดลองฝึกหัดเป็นทหารตามยุทธวิธีแบบใหม่ (แบบทหารอังกฤษ) เช่นเดียวกับทหารหน้าซึ่งในชั้นแรกนั้นมี 12 คน และให้ทำหน้าที่ไล่กาที่บินมารบกวนในเวลาทรงบาตร ตลอดจนตั้งแถวรับเสด็จ ณ ที่นั้นทุกเวลาเช้า ทหารเด็ก ๆ มหาดเล็กเหล่านี้เองเรียกว่าทหารมหาดเล็กไล่กาอาทิ สมเด็จ-พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ เป็นต้น ซึ่งในเวลานั้นล้วนทรงพระเยาว์และมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และผู้เป็นทหารมหาดเล็กพวกนี้ยังไว้พระเมาฬีอยู่ ยังมิได้เกศากันต์ แม้จะนับว่าเป็นการเล่น ๆ แบบนักเรียนทหาร แต่ทหารเด็ก ๆ ชุดนี้ก็ได้ชื่อว่าทหารมหาดเล็กเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นเหตุให้เกิดมีกรมทหารมหาดเล็กที่จริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5 สืบเชื้อนามนั้นเป็นหลักฐานต่อมา (แต่เดิมมา ตำแหน่งมหาดเล็กจัดเป็นตำแหน่งฝ่ายพลเรือน มหาดเล็กเป็นตำแหน่งเจ้าพนักงานถวายงานรับใช้ส่วนพระองค์และไม่ใช่ทหาร)

 

411 ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย

 

เชิงอรรถ

1 ฐานข้อมูลออนไลน์ของสถาบันพระปกเกล้า 1.เรื่องจตุสดมภ์ เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ. ดร.ปธาน สุวรรณมงคล 2.ชาติชาย มุกสง, การปกครองแบบหัวเมือง

2 หลวงวิจิตรวาทการ, การเมืองและการปกครองของกรุงสยาม (ไม่ระบุสำนักพิมพ์) หน้า 17 - 32

3 เรื่องตำนานการเกณฑ์ทหารกับเรื่องตำนานกรมทหารราบที่ 4 เรื่องตำนานกรมทหารราบที่ 4 ว่าด้วยเรื่องกรุงศรีอยุธยาถึงความเสื่อม, ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 23

4 คณะทำงานเฉพาะกิจการจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์, ประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ : อัมรินทร์การพิมพ์, 2525)

5 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 23 เรื่องตำนานการเกณฑ์ทหารกับเรื่องตำนานกรมทหารราบที่ 4 เรื่องตำนานกรมทหารราบที่ 4

6 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ ตอนที่ 4 เรื่องเริ่มรัชกาลที่ 5

7 ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่มที่ 4, หน้า 367 - 368

8 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 23 เรื่องตำนานการเกณฑ์ทหารกับเรื่องตำนานกรมทหารราบที่ 4 เรื่องตำนานกรมทหารราบที่ 4

9 ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 23 เรื่องตำนานการเกณฑ์ทหารกับเรื่องตำนานกรมทหารราบที่ 4 เรื่องตำนานกรมทหารราบที่ 4